วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Field trip สถ. ลาดกระบัง ชั้นปีที่ 5 / 2552

การเดินทางสู่ภาคเหนือ เพื่อค้นหาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน ไปศึกษากันว่าความต้องการของคนชนบทนั้นแท้จริงคืออะไร

วันเสาร์ที่ 4 ก.ค.

ตามเวลานัดหมายนั้น บอกว่าล้อจะหมุนตั้งแต่ 7 โมงเช้า และแล้วก็เหมือนทุกครั้ง ไม่มีการพัฒนา ไม่มีความกลัว ไม่มีความเกรงใจ คนที่มีความรับผิดชอบต้องรอคนไร้ความรับผิดชอบเหมือนเช่นเคย ทำไงได้ ก็ไอ้พวกไร้ความรับผิดชอบที่ว่านั่นมันเพื่อนของเรา “เพื่อน” สำคัญเสมอ

ไม่ได้มีการขนของกลับจากบูธแต่อย่างใด ความปลอดภัยฝากไว้กับแม่กุญแจอันเดียว ที่แค่เลื่อยมาเฉี่ยวก็ขาด ขอบคุณน้องๆฝั่งตรงข้ามที่ยังคอยสอดส่องดูแลให้เสมอมา ใครจะไปกล้าขนของกลับล่ะครับ ถ้าวันใดเราออกไป เราอาจจะไม่ได้กลับเข้ามาอีกเลยก็ได้ ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นหลักประกันที่ทำงานของพวกเรา ข่าวลือเรื่องการถูกไล่ออกจากบูทสะเทือนใจปี 5 ทุกๆคน แต่เมื่อรถออกทุกปัญหาที่เกิดขึ้นที่คณะ ก็ถูกปล่อยไว้ที่นั้น พวกเราเบิกบานใจ และเปิดใจที่จะพบกับสิ่งที่รอเราอยู่ข้างหน้า ใช้เวลาเดินทางไม่นานก็ถึงสระบุรี ที่แรกที่เราเข้าไปนั้นเป็นบ้านคน

“บ้านเขาแก้ว” ร่มรื่นเหลือเกิน ลานดิน บ้านไม้ทรงไทย เงียบสงบ ความเป็นอยู่แบบชนบทแท้ๆ ที่หาดูได้ยากนัก ได้ฟังบรรยายจากสองผู้เฒ่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทยชนบท ลานดินที่เป็นพื้นที่ก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มีความเชื้อเชิญและเป็นมิตรอย่างยิ่งในความรู้สึกของผู้ที่มาเยือน คนโบราณเขาอยู่กันเช่นนี้เอง เช่นนี้ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเราเปลี่ยนไป เช่นนี้ที่เราไม่เหมือนเขา และคนรุ่นเรากลายเป็นคนเห็นแก่ตัว

เพียงข้ามถนน ก็เข้าสู่"หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี และ พิพิธภัณฑ์เรือลุ่มน้ำป่าสัก" ที่แห่งนี้มีความอบอุ่นด้วยบรรยากาศของสิ่งแวดล้อม ทั้งบ้านเรื่อง ต้นไม้ แม่น้ำ เหนือกว่านั้นคือน้ำใจที่ได้รับจากชาวไทยวน ที่นี่มีอาหารเลิศรส และการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยวน อะไรเป็นเหตุให้ผมประทับใจที่นี่ อะไรจะเป็นเหตุให้ผมคิดที่จะกลับมาที่นี่อีกครั้ง เพราะผมต่อโท?..

ตัวผมขึ้นรถและเดินทางต่อไปแม้หัวใจจะทิ้งไว้ที่ที่ผ่านมา มุ่งหน้าสู่ที่ต่อไป ที่ต่อไปที่ไหนผมยังไม่รู้จนกว่าจะไปถึง.. ในที่สุดก็ถึง “โบราณสถานวัดพระนอน” สวยงาม ร่มรื่น สงบ และน่าศรัทธา “น้องๆคร้าบ เร็วๆคร้าบ แสงจะหมดแล้วคร้าบ” ทุกคนดูจะอ่อนล้า และท้อแท้กับแบตเตอรี่อ่อน ที่วัดพระนอนแห่งนี้ยังทำให้เรามีแรงฮึดสุดท้าย ถ่ายภาพความงาม และบันทึกสิ่งก่อสร้างของช่างโบราณที่ผ่านการคิดรายละเอียดต่างๆมาอย่างดี ที่ทำให้ผู้เห็นเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สุดท้ายอย่างที่คิด ยังมีราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถ ที่นี่มีคนเวียนเทียนช่างเป็นโอกาสดีจริงๆที่ได้เห็น และได้เก็บภาพสุดท้ายของวัน


วันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.

ฝนตก!! วันรุ่งขึ้นนี้สภาพอากาศไม่ค่อยเป็นใจกับการถ่ายรูปนัก รับประทานข้าวซอยแสนอร่อยในร้านโอมาห์ ร้านนี้อะไรๆก็เป็นแรงดึงดูดให้เข้ามานั่งทานอาหาร อร่อยมาก (น่ารักมาก) เรียบร้อบแล้วมุ่งหน้าเดินทางสู่ที่ต่อไป

“วัดไหล่หิน” ที่นี่โดดเด่นทางการลวงตา หาเคยเห็นสิงห์ที่วัดอื่นแล้ว มาดูวัดนี้จะทำให้รู้สึกว่าวัดนี้มีขนาดใหญ่มาก เป็นเพราะสิงห์เล็กนั่นเอง ลานทรายนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีในวัดแทบทุกแห่ง เป็นพื้นที่กิจกรรม อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าที่วัดแห่งนี้เป็นลานดินเหมือนบ้านเมื่อวาน คงเละเทะน่าดู การขนทรายเข้าวัดที่มีมาแต่โบราณก็เหตุที่วัดเป็นลานทราย ชาวบ้านเมื่อมาที่วัดมีทรายติดเท้ากลับไป ก็ต้องขนกลับมาคืนวัดจน กลายเป็นประเพณี งานก่อสร้างสมัยก่อนนั้นรายละเอียดต่างๆไม่เนี้ยบ ความไม่เนี้ยบนั้นทำให้โบราณสถานอย่างวัดนี้ดูมีความงามแม้จะเก่า เพราะความไม่เนี้ยบนั้น ทำให้คราบความเก่าไม่เป็นจุดด่างพล้อยของงาน กล้องกันน้ำช่วยผมให้สบายใจเรื่องกล้องเสียได้ส่วนหนึ่ง แต่กางเกงยีนขายาวขาดๆที่ลากไปกับพื้นน้ำนั้น ทำให้ลำบากเหลือเกิน

“วัดพระธาตุลำปางหลวง” เดิมทีบริเวณรอบวัดนั้นเชื่อมต่อกับท้องนาโล่งๆ มีเส้นนำสายตาจากท้องนาขึ้นสู่เนินดิน และปิดล้อมพื้นที่ภายในด้วยกำแพง ภายหลังจึงมีการสร้างถนนและกำแพงด้านล้าง ในครั้งนั้นไปถึงกำลังมีการซ่อมแซมเจดีย์ ซุ้มประตู และกำแพงในบางส่วน ที่นี่มีลานกว้างสองฝั่ง ด้านหนึ่งเป็นลานทราย อีกด้าน ปูด้วยก้อนอิฐ หลังคาเตี้ยๆของวิหารนั้นทำให้เมื่อผมเข้ามาถึงก็ต้องนั่งลงทันที เพื่อที่จะเห็นพื้นที่ๆรอบ เมื่อเดินออกไปด้านขวาของวิหาร มีต้นศรีมหาโพธิ์ ที่มีไม้ค้ำศรี ค้ำอยู่เป็นจำนวนมากเป็นประเพณีของที่นี่ เมื่อคิดว่าถ่ายรูปครบแล้วจึงกลับไปที่รถ พบท่านอาจารย์จิ๋วอยู่บนรถ ท่านขอดูรูปแล้วสั่งให้กลับไปถ่ายรูปหอสรงน้ำพระอีกรอบ ให้ความสำคัญกับหอสรงมาก ท่านว่ากำลังจะถูกรื้อ เพราะเก่ามากแล้ว

“วัดปงยางคก” ที่มาของชื่อปงยางคก คือ สมัยที่พระแม่เจ้าจามเทวีจะเดินทางนำฉัตรไปบูชาที่พระธาตุลำปางหลวง ช้างที่ขี่ม้าก็หยุดเดิน และหมอบลง อยู่ ณ ที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน และไม่ยอมไป จึงได้ตั้งวิหาร และสร้างกู่จ๊างนบไว้ (จ๊าง คือช้าง นบ คือการที่ช้างทำความเคารพ) ได้เข้าชมวิหารพระแม่เจ้าจามเทวี แปลกตรงที่ รอบวิหารนี้เป็นลานหินกรวด ไม่ใช่ทราย อาจารย์จิ๋วท่านว่า เอามาเททีหลัง ไปลอกญี่ปุ่นมา แล้วไม่ได้รู้ว่าคนไทยอยู่กันยังไง เมื่อลองถอดรองเท้าเดินจะทำให้รู้สึกเจ็บเท้า ภายในวิหารนั้นมีลวดลายที่วิจิตรและสวยงามมาก หลังคาโดยรอบก็เตี้ยมากเหมือนกัน เพียงเดินเข้าไปก็ต้องก้มหัวแล้ว ทำให้นอบน้อมดียิ่งนัก

ออกจากวัดปงยางคกก็แวะตามบ้านต่างๆที่ผ่าน เป็นบ้านเก่าที่ยังคงรักษาไว้ได้อย่างดี มีความสวยงามมาก และทำให้เห็นวิถีชีวิตผู้ที่อยู่อย่างชัดเจน ได้ช่วยเหลือท่านพ่อเฒ่าแม่เฒ่า เป็นเงินเล็กน้อย ท่านก็ให้พรเป็นการใหญ่ เป็นภาษาถิ่น


วันจันทร์ที่ 6 ก.ค.
เช้าทานอาหารที่ร้านโอมาห์เช่นเคย อร่อยมาก(น่ารักมาก) ฝนตกปรอยๆ ฟ้าหม่นๆวันนี้เดินทางแวะไปตามหมู่บ้าน รับรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน และศึกษาวิธีการสร้างบ้านของพวกเขา พวกเขาพึ่งพาตัวเอง ใช้ช่างพื้นถิ่นและช่วยกันสร้างรูปแบบบ้านเหล่านั้นตอบสนองการใช้งานจริงของพวกเขา ชาวบ้านแถวนี้ประกอบอาชีพหลักคือทำนา ทุ่งนาแถวนี้ไม่เหมือนแถวภสคอีสาน บางส่วนเป็นนาขั้นบันได ทุ่งนาบริเวณเชิงเขาเหล่านี้ สวยงามจริงๆ สีเขียวขจีไปทั้งหมด และมองเห็นเมฆหมอกบนยอดเขา ภาพแบบนี้ที่ชีวิตประจำวันผมไม่มีโอกาสได้เห็นเลย

อาหารกลางวันแวะทานที่วัด “เขาเตรียมข้าวกันหมดน่ะ!! แล้วเราไม่มีอ่ะ!!” พวกผมเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านถามทางชาวบ้าน เด็กๆบอกให้เดินตรงเข้าไปจะมีร้านก๋วยเตี๋ยว เดินไปก็ไม่เจอ จนกระทั้งเจอลุงใจดีนำทางให้ แท้จริงแล้วทางที่เด็กๆนั้นบอกทำให้เราต้องเดินอ้อม ก๋วยเตี๋ยวที่นี่อร่อยและถูกมาก

เมื่อทานอาหารเสร็จกลับไปรวมที่วัด เดินเข้าหมู่บ้าน หมู่บ้านที่นี่ มีคูน้ำที่ไหลเชียวอยู่โดยรอบ เรากลับไปลุยนาต่อ วันนี้จะใช้เวลาส่วนมากลุยอยู่ในทุ่งนา เป็นเพราะมันเดินยาก เข้าไปแล้วออกยาก ออกยากคือเดินก็ยาก แถมยังไม่อยากออก พวกผมลุยคันนาเขาพังไปหลายแห่งเลยทีเดียว แต่ก็ประทับใจวันนี้ที่สุด ทุกคนยิ้มไม่หุบ ยิ้มแย้ม ยิ้มๆๆ

“วัดข่วงกอม” จังหวัดลำปาง ที่นี่มีกุฏิสร้างใหม่ที่ออกแบบโดยสถาปนิก ดูสวยงามดี แต่ลักษณะเหมือนจะเป็นรีสอร์ โบสถ์ที่ออกแบบอย่างสวยงาม แต่ลักษณะของการสร้างกำแพงด้วยการเรียงหินที่แตกต่างจากการเรียงอิฐในสมัยก่อน ทำให้ลายตะปุ่มตะปั่มที่กำแพงหินและบันไดนั้นดูจะขัดๆลูกตาซักนิด เมื่อตั้งใจจะมองไปที่โบสถ์ เดินเข้าไปด้านในมีหมู่บ้านเล็กๆ ออกไปทางด้านหลังมีทางเดินเป็นพื้นดินที่เปียกจนลื่น เมื่อเดินเข้าไปสุดทาง มีสะพานข้ามลำธาร เพื่อข้ามไปยังพื้นที่เกษตรกรรมที่เต็มไปด้วยทากดูดเลือด เมื่อคนข้ามมามากแล้วผทตัดสินใจกลับก่อนที่สะพานจะหัก กลับมาคนแรกได้ซื้อซาลาเปากิน 3ลูก อย่างหิวโหยหันกลับมาอีกที พบว่าโบสถ์ตอนพระอาทิตย์ตกดินนั้นเปิดไปสวยงามมาก แต่ไม่ทันแล้ว แบตหมดคร้าบบบ


วันอังคารที่ 7 ก.ค.

เป็นวันสุดท้ายที่ทานอาหารที่ร้านโอมาห์ ความอร่อยที่น่ารัก จะไม่ได้มาอีกแล้ว~

วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใส สถานที่แรกที่ไปถึงวันนี้คือวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม(พระบรมธาตุดอนเต้า) อ.เมือง จ.ลำปาง อุโบสถวัดสุชาดาราม เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาฝีมือช่างเชียงแสน เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ประดับด้วยลายลงรักปิดทอง ช่องเปิดนั้นเรียงเป็นเส้นนำสายตา มองจากด้านนอกไม่รู้สึกเท่าไหร่ มองจากภายในจึงรู้ว่าช่องเปิดไล่ระดับสูงขึ้นไปนำสายตาไปสู่ พระประทาน มอสที่ขึ้นรอบๆโบสถ์นั้นเป็นความงามที่เข้ากันได้อย่างดี

“วัดปงสนุก”
เคยเป็นที่ฝังเสาหลักเมืองหลังแรก แต่ปัจจุบันได้ถูกย้ายออกไปแล้ววิหารพระเจ้าพันองค์ถือเป็นวิหารที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์มาก ทั้งการตกแต่งแบบพื้นถิ่น โดยใช้ฝีมือของชาวบ้านที่ไม่ประณีตมากนัก สีสันหลากหลาย รวมไปถึงหลังคาที่เชิดขึ้นทำให้ดูมีเสน่ห์ขึ้นอีก รายละเอียดโครงสร้างที่มึความซับซ้อนต่างออกไปจากที่อื่นๆ ที่นี่คนที่ขาดวิชาอาจารย์ไก่ 2 ครั้งต้องตัดโมเดลนะ สะใจ

“วัดศรีรองเมือง(วัดท่าคราวน้อยพะม่า)”
เมื่อมาถึงวัดศรีรองเมืองเป็นเวลารับประทานอาหารกลางวันพอดี โชคดีที่วันนี้เตรียมอาหารมาจึงไม่ต้องเดินตากฝนไปทานข้าวงไกลเหมือนเพื่อนๆ ทั้งที่เตือนแล้วแท้ๆแต่ไม่มีใครสนใจซื้อ การเตรียมอาหารมากลับกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะเหล่าอาจารย์ทานไม่หมด ส่งให้เป็นหน้าที่ผมในการเก็บกวาดอาหารให้เรียบผลของการเก็บกวาดอาหารเหล่านี้ ทำให้ผมอิ่มจนปวดท้องมาก ทรมานตลอดการถ่ายรูปที่วัดนี้ วัดศรีรองเมือง ถูกสร้างโดยช่างชาวพม่า ปัจจุบันมีอายุถึง 100 ปี เสา ฝ้าเพดาน ถูกตกแต่งไว้ด้วยลวดลายวิจิตรงดงาม จนกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ตัววิหารสร้างด้วยไม้สัก หลังคาซ้อนชั้นเห็นได้เด่นชัดเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีลายฉลุประดับหน้าจั่วและเชิงชายคา ดูอ่อนช้อยกว่าที่อื่นๆ รวมทั้งสีทองตัดกับสีน้ำตาลแดง ภายในวิหาร ตกแต่งไว้อย่างวิจิตร เสาประดับประดาด้วยปั้นรักและกระจกหลากสีสะท้อนแสงเพดานมีการตกแต่งด้วยกรอบลาย เป็นเส้นลวดลายต่างๆ รวมทั้งกระจกสีหลากหลาย ที่แตกต่างจากวัดไทยคือ ที่นี่เป็นการรวมวิหาร โบสถ์ และกุฏิสงฆ์เข้าไว้ด้วยกัน เมื่อลงมาจึงได้เก็บภาพสิ่งก่อสร้างที่ดูคล้ายหอสรง แต่ที่นี่กลับเป็นห้องส้วมแบบพม่านั่นเอง

เดินทางออกจากวัดไปยังบ้านเก่าหลังหนึ่ง หน้าบ้านมีป้ายว่า พ.ศ. 2482 บ้านหลังนี้เป้นบ้านไทยพื้นถิ่นที่สร้างด้วยช่างที่มีความปราณีต และสวยงามมาก

ค่ำนี้อาจารย์เลี้ยงอาหารพื้นเมืองแห่งหนึ่ง ขอบคุณมากครับ ถ้าไม่ได้อาจารย์พาไปผมคงไม่มีโอกาสได้กิน อาหารพื้นเมืองอร่อยมาก

คืนนี้นอนที่สนามกีฬา 700 ปี เชียงใหม่ ที่นี่เป็นที่นอนที่ผมประทับใจที่สุด ไม่ต้องหรู ห้องน้ำเยอะ อยู่หลายคน สนุกสนานกันดี ทุกคนต่างก็ทำกิจกรรมร่วมกันตอนกลางคืน ทั้งออกกำลังกาย เล่นดนตรี เล่นของเล่น และที่สำคัญห้องอาบน้ำมีเพียงพอที่จะตื่นสายแล้วอาบทัน แถมยังราคาถูกมากๆ


วันพุธที่ 8 ก.ค.

วันนี้ออกมาทานอาหารไม่ไกลนัก มื้อเช้าที่สิ้นคิดของผมก็คือข้าวมันไก่ สั่งแบบนี้จะได้กินไวๆ ปรากฏว่านานเหมือนต้องรอไก่โตเลยทีเดียว

“พระวิหารหอคำหลวง”เป็นวิหารไม้ที่สวยงาม มีการลดชั้นหลังคา ฝาด้านข้างเป็นฝาไม้ปะกล รอบข้างมีไผ่สานลักษณะคล้ายเจดีย์ มีธงธรรมจักรปักเรียงราย สร้างบรรยากาศดูมีชีวิตชีวาเป็นอย่างยิ่ง ศาลาในวัดนี้มีโครงสร้างที่ทำจากไม้ไผ่ ปูด้วยตองตรึง ช่วยป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี และสวยงามเป็นธรรมชาติ

“โรงแรม ยู” เชียงใหม่ โรงแรมแห่งนี้ได้มีการต่อเติมห้อมล้อมบ้านไม้เก่า โดยมีการเลียนแบบรายละเอียดขอระเบียบโบราณโดยการใช้วัสดุโครงสร้างสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน สร้างบรรยากาศและจุดขายได้เป็นอย่างดี

“วัดทุ่งอ้อ” เป็นวัดที่มีบริเวณกว้างขวาง มีลานกว้างทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่วิหารกลับเป็นวิหารขนาดเล็กมากที่เป็นการผสมผสานโครงสร้างปูนและไม้เข้าด้วยกัน อย่างลงตัวและสวยงาม โดยการออกแบบมีรายละเอียดที่มาจากการใช้งานจริง มีทางเข้าเล็กๆด้านข้างสำหรับเป็นทางพระสงฆ์ขึ้น เพราะวิหารขนาดเล็กมากเมื่อคนเข้ามานั่งแล้วพระจะเข้ามาได้ยาก

“วัดอินทราวาส(ต้นเกว๋น)” อ.หางดง จ.เชียงใหม่ "ต้นเกว๋น" เป็นชื่อของต้นไม้ล้านนาชนิดหนึ่ง ที่มีในบริเวณวัด มีลานทรายกว้างตัดกันสีเขียวของสนามหญ้าอย่างชัดเจน มีกำแพงล้อมรอบบริเวณ มีการวางกลุ่มอาคารที่เชื่อมต่อกัน และล้อมกรอบให้เกิดพื้นที่ ที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างเลื่อนไหล หลังจากสะใจพวกขาดสองครั้งได้ไม่นาน ในที่สุดก็ถึงคราวพวกขาด 1 ครั้ง ที่จะต้องตัดโมเดลโครงสร้างศาลาที่วัดแห่งนี้ เมื่อเข้าไปในวิหาร พบโครงสร้างหลังคาเป็นหลังคาซ้อนชั้น โดยมีการ ลดหลั่นของผนังตามการซ้อนชั้นของหลังคา ด้วยวิธีการใช้เสาคู่ แสงที่ถูกควบคุมให้เกิดการแยกพื้นที่ภายในออกเป็นสามส่วน

“โรงแรมราชมังคลา” โรงแรมที่เจ้าของซึ่งเป็นผู้ออกแบบได้สั่งสมประสบการณ์ที่ศึกษาและเดินทางไปยังที่ต่างๆมาเป็นเวลานาน และได้รวมความเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา ไทย และจีนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยการเลียนแบบวิธีการก่อสร้างของช่างโบราณ ซึ่งไม่เนี๊ยบ ทำให้ได้บรรยากาศของงานก่อสร้างโบราณ

“ไนท์บาซ่า”
ขอบคุณอาหารไทยที่ แพง น้อย และห่วยที่สุดในโลก ที่พบได้ที่นี่เท่านั้น!!เดินเที่ยวหาซื้อของแถวไนท์บาซ่าและถนนโดยรอบนั้นก็สนุกดี แต่ตอนจ่ายเงินไม่สนุกเลย มีแต่ของน่าซื้อทั้งนั้น ต้องอดทนๆ

ค่ำคืนกลับสู่ที่พักแรมสนามกีฬา 700 ปี สนุกเหมือนเคย ชอบจริงๆนะที่เนี่ย


วันพฤหัสที่ 9 ก.ค.

เช้าออกไปทานอาหารที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาหารถูก อร่อย มีให้เลือกหลายอย่าง โรงอาหารกว้างขวาง มีน้ำดื่มฟรี ห้องน้ำเข้าแล้วปิดประตูได้ ทุกอย่าง ต่างจากโรงอาหารเราสิ้นเชิง โรงอาหารเราจะชนะแค่ความอร่อยเท่านั้นแหละ แต่สิ่งดึงดูดสายตาของเขาน่ามองกว่าเยอะ เพื่อนในกลุ่ม นั่งเก้าอี้โรงอาหารในลักษณะ หันมองไปทางเดียวกัน เหมือนอัฒจรรย์ไม่มีผิด คนมีกล้องก็เอาขึ้นมาถ่ายกัน โดนเมล็ดเงาะก็แล้ว ต้องรอจนกระทั้งโดนลูกเงาะถึงวงแตก “ระเบิดลง!!” มาจากผู้ทนดูพฤติกรรมพวกเราไม่ได้
“ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
แหล่งรวมบ้านไทยโบราณที่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี มีองค์ประกอบและรายละเอียดที่สวยงาม รวมถึงพื้นที่โดยรอบที่ร่มรื่ม ผมยังมีโอกาสได้ทดสอบความแข็งแรงโครงสร้างโดยการเหยียบทะลุพื้นลงไปจนได้แผลยาวถึงโคนขา พบว่า พื้นไม่กระดานแผ่นใหญ่ที่ไม่ได้ใช่ตะปูจะแข็งแรงกว่าไม้แผ่นเล็กที่ตะปูผุ

แวะหมู่บ้านหาดผาคัน เก็บภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน และบ้านเรือน จนหมดวัน

นอนโรงแรงที่สุโขทัย











วันศุกร์ที่ 10 ก.ค.

“สนามบินสุโขทัย”
สนามบินสุโขทัยได้ออกแบบโดยดึงเอกลักษณ์ สถาปัตกรรมสมัยสุโขทัยออกมาอย่างชัดเจน พื้นที่โดยรอบสนามบินจัดไว้เสมือนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว กลางวันเรารับประทานอาหารกันที่นี่ ร้านอาหารที่มีน้อยดูเหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับพวกเรา


“ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์ตาสังคโลก สุโขทัย”
ได้ชมการขุค้นพบเตาเผาเครื่องสังคโลกสมันโบราณ และศึกษาถึงลักษณะการออกแบบอาคารที่ครอบคลุมพื้นที่ของการขุดค้นพบโบราณวัตถุเหล่านี้ โดยการใช้โครงสีร้างสมัยใหม่ และการออกแบบพื้นที่ ที่เอื้อต่อการชม และถ่ายภาพ โดยการเว้นพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม


“ศูนย์บริการข้อมูล”
ได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับพื้นที่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย


“วัดทุ่งศรี” “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” “วัดช้างล้อม”
วันเสาร์ที่ 11 ก.ค.

วันนี้แหกขี้ตาตื่นตี 5 และทนหิวเพื่อไปให้ทันถ่ายรูป“วัดพระศรีรัตนมหาธาติเชลียง” และได้ถวายเทียนจำนำพรรษาให้กับที่วัด
แดดวันนี้เป็นใจแก่การถ่ายรูป แต่ไม่เป็นใจแก่การเดินไปถ่ายซักเท่าไหร่ ร้อนเกินไปแล้ว~
วัดที่ไปในวันนี้ได้แก่
“วัดกุฎีราย”
“วัดมหาธาตุ”
“วัดศรีสวาย”
“วัดพระพายหลวง”“วัดศรีชุม” ได้ซื้อปลาตะเพียนเป็นของฝากน้องรหัส เพื่อช่วยเหลือคุณยายเจ้าของร้าน












วันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค.
“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ”
อึกทึกไปด้วยผู้คน เป็นวัดที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมาก มีการทำบุญกันอย่างครึกครื้น จนการบรรยาของอาจารย์เป็นไปด้วยความยากลำบาก แดดก็ร้อนมาก แต่ท้องฟ้าไม่สวย ไม่มีมีเมฆ มีแต่แสงแดดจ้า
“วัดราชบูรณะ”
มีวิหารเก่าแก่ที่สวยงามมาก ภายในยังมีของสะสมโบราณที่มีแสดงให้ดูแก่คนรุ่นหลัง
เดินทางหาร้านอาหารกลางวัน สุดท้ายต้องเข้าไปในห้างสรรพสินค้า กินอาหารที่ศูนย์อาหาร ไม่ผิดหวัง อาหารที่นี่อร่อย ราคาไม่แพง แถมแอร์เย็น สบายกว่าอยู่ข้างนอกเยอะ~
ขากลับซื้อของที่ระลึกเป็นเครื่องเคาะจังหวะดนตรีต่างๆ แล้วก็เล่นดนตรีกันตลอดเวลาเดินทางกลับทำให้รู้สึกว่าเดินทางกลับมาถึงเร็วมาก