วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

มาตรฐานป้องกันอัคคีภัยของ NFPA

มาตรฐานป้องกันอัคคีภัยของ NFPA (National Fire Protection Association)
NFPA เป็นชื่อย่อของ National Fire Protection Association ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1896 หรือ 108 ปีมาแล้ว เป็นองค์กรชั้นนำของโลกที่สนับสนุนกิจกรรมด้านการป้องกันอัคคีภัย สำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรที่ประกอบกิจกรรมโดยไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit Organization) มีสมาชิกรายบุคคลทั่วโลกกว่า 75,000 ราย และมีองค์กรทางวิชาชีพและทางการค้าระดับนานาชาติเป็นสมาชิกกว่า 80 องค์กร
ภารกิจหลักของ NFPA คือ จัดทำและสนับสนุนการกำหนดมาตรฐาน ที่พัฒนามาจากสถิติและข้อมูลความเสียหายจริงของชีวิตและทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากอัคคีภัยและอุบัติภัยต่างๆ ด้วยวิธีประชามติ การวิจัย การฝึกอบรม และการให้ความรู้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะลดปัญหาและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากอัคคีภัยและอุบัติภัยต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรโลก
นอกจากนี้ NFPA ยังเป็นแหล่งรวมข้อมูลที่สำคัญด้านความปลอดภัยของสาธารณชน มาตรฐานความปลอดภัยของ NFPA กว่า 300 ประเภท ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และนำมาใช้ในกระบวนการก่อสร้างและบริหารจัดการอาคารให้มีความปลอดภัย โดยครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ ติดตั้ง ตรวจสอบ จนถึงการดับเพลิงเมื่อเกิดอัคคีภัย

โดยรหัสของมาตรฐานที่มีการใช้อย่างแพร่หลายได้แก่



NFPA 1, Fire Code

มาตรฐานที่สมควรติดตั้ง ในการป้องกันอัคคีภัย เพื่อความปลอดภัย และป้องกันความเสียหายแก่ทรัพย์สิน
โดยมีขอบเขตของเนื้อหาดังนี้
1) การตรวจสอบอาคารทั้งถาวร และชั่วคราว ในเรื่องของกระบวนการ เครื่องมือ และระบบ และสถานภาพต่างๆที่เกี่ยวข้องกับไฟ และความปลอดภัยของชีวิต
2) การสืบสวนข้อเท็จจริง กรณี เหตุการณ์ ไฟไหม้ ระเบิด และวัสดุอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉิน
3) ทบทวนแบบก่อสร้าง และข้อกำหนดสำหรับระบบความปลอดภัย และระบบป้องกันอัคคีภัย การเข้าถึง ระบบจ่ายน้ำ กระบวนการของวัสดุอันตราย เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับไฟ และความปลอดภัยของชีวิต
4) การให้การศึกษาในเรื่อง ไฟ และความปลอดภัยในชีวิต แก่อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ และบุคคลทั่ว
5) เงื่อนไข การออกแบบ และก่อสร้างอาคารใหม่ และการปรับปรุงสำหรับอาคารที่มีอยู่เดิม
6) การออกแบบ, ปรับปรุง, แก้ไข, ก่อสร้าง, บำรุงรักษา, และทดสอบเครื่องมือ และระบบป้องกันอัคคีภัย
7) ความต้องการทางเข้าสำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
8) อันตรายจากเพลิงไหม้ภายนอก ในพืช ขยะ ซากปรักของอาคาร และวัสดุอื่นๆ
9) ระเบียบ ตลอดจนการควบคุมการจัดกิจกรรมพิเศษ ไม่รวมถึง การชุมนุมชน งานแสดงสินค้า สวนสนุก และกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆในลักษณะชั่วคราว และถาวร
10) วัสดุตกแต่งภายใน และเครื่องเรือน และวัสดุติดไฟง่าย ซึ่งมีส่วนทำให้ไฟลาม เป็นพาหะนำไฟ และทำให้เกิดควัน
11) การจัดเก็บ การควบคุม และการขนย้ายวัตถุไฟไว ทั้งชนิดก๊าซ ของเหลว และของแข็ง
12) การจัดเก็บ การควบคุม และการขนย้ายวัตถุอันตราย
13) การควบคุมการดำเนินงาน และสถานการณ์ฉุกเฉิน
14) ผลกระทบต่อความปลอดภัยของนักผจญเพลิง
15) การจัดการ การออกแบบ การก่อสร้าง และ เปลี่ยนแปลงวิธีการของทางออกใหม่ และที่มีอยู่เดิม


NFPA 54, National Fuel Gas Code

มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการติดตั้งก๊าซเชื้อเพลิง


NFPA 70®, National Electric Code®

มาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้า ที่ทั่วโลกยอมรับ และใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด



Life Safety Code®

การตรวจสอบมาตรฐานขั้นต่ำในการป้องกัน ไฟ ควัน และสารพิษ สำหรับอาคาร



NFPA 704

เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ซึ่งกำหนดและรักษามาตรฐานโดย สมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (National Fire Protection Association) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันและเตือนถึงวัสดุอันตรายต่างๆ เครื่องหมายนี้เรียกง่ายๆ ว่า "เพชรไฟ" (fire diamond) เป็นการเตือนภัยส่วนบุคคลเพื่อให้ง่ายและรวดเร็วที่จะได้ทราบ ว่าเป็นวัสดุอันตรายชนิดใด มีวิธีการปฏิบัติหรือต้องการเครื่องมือเฉพาะอย่างไรบ้าง



ระดับความเป็นอันตราย

สุขภาพ
4 รุนแรงมาก : หากรับสัมผัสในเวลาสั้นๆ อาจทำให้ตายหรือบาดเจ็บอย่างรุนแรงถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาทันที
3 รุนแรง : หากรับหรือสัมผัสในเวลาสั้นๆถึงปานกลางอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงถึงปานกลาง ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาทันที
2 ปานกลาง : หากรับสัมผัสสารที่เข้มข้นหรือเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือบาดเจ็บเล็กน้อยถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที
1 เล็กน้อย : การรับสัมผัสสารอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือบาดเจ็บเล็กน้อยหากไม่ได้รับการรักษา
0 น้อยมาก : ไม่เป็นพิษ

ความไวไฟ
4 รุนแรงมาก :ติดไฟง่ายมาก จุดวาบไฟ <>
3 รุนแรง : ติดไฟได้ ภายใต้อุณหภูมิ และความดันปกติ
2 ปานกลาง : ติดไฟได้ถ้าได้รับความร้อนหรือที่อุณหภูมิสูง
1 เล็กน้อย : ติดไฟได้เล็กน้อยหากได้รับความร้อน
0 น้อยมาก : ไม่ติดไฟ

การเกิดปฏิกริยาเคมี
4 รุนแรงมาก : อาจระเบิดหรือทำปฏิกริยาได้ง่ายที่อุณหภูมิและความดันปกติ
3 รุนแรง : อาจระเบิดได้หากได้รับความร้อนสูงและอยู่ในที่อับ อาจทำปฏิกริยากับน้ำแล้วระเบิดได้
2 ปานกลาง : สารไม่เสถียรและอาจทำปฏิกริยารุนแรงหรือเกิดสารที่ระเบิดได้หากทำปฏิกริยากับน้ำ
1 เล็กน้อย : ปกติเป็นสารที่เสถียร แต่ที่อุณหภูมิและความดันสูง จะกลายเป็นสารที่ไม่เสถียร ทำปฏิกริยากับน้ำแล้วให้ความร้อน
0 น้อยมาก : ไม่ติดไฟ


วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552





บทสัมภาษณ์ รุ่นพี่สถาปัตย์ สจล.

นายอานนท์ เรืองกาญจนวิทย์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท อาร์คิเทคเจอร์ ดีไซน์ อินโนเวชั่น จำกัด
ประวัติการศึกษา
• ระดับปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต, 2540 (สถ.บ.)
Bachelor of Architecture (B.Arch)
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
History of Architecture (M.Arch)
• ระดับปริญญาโท ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม, 2546
มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลงานการออกแบบวิชาชีพสถาปัตยกรรม
2541 ออกแบบและวางผังโครงการหมู่บ้าน Grand Canal ถ.ประชาชื่น
2543 โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ เทพารักษ์ จ.สมุทราปราการ
2547 บ้านประหยัดพลังงาน คุณอนงค์รัตน์ คงลาภ บางซื่อ กรุงเทพฯ
2547 อาชวาลัย รีสอร์ท จ. พัทยา
2548 โชว์รูมเชฟโรเลฟ นวมินทร์ ถ.สุขาภิบาล 1 กรุงเทพฯ
2548 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาประจำภาค จ.ร้อยเอ็ด
2549 อาคารสำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ.ราชพฤกษ์ กรุงเทพ




2549 อาคารสำนักงานเทศบาลเจ็ดเสมียน จ.ราชบุรี
2549 อาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ
2549 อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลตุลากาล จ.พัทยา
2550 อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลตุลาการ จ.สมุทรสาคร
2550 อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลตุลาการ จ. ฉะเชิงเทรา
2551 อาคารสำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
2551 สถานฑูตอินเดีย (ส่วนขยาย) ถ.สุขุมวิท 23 กรุงเทพฯ
2551 บ้านคุณวราพงษ์ เดชอมรธัญ ราษฎ์บูรณะ กรุงเทพฯ

เกียรติประวัติและผลงาน
2540 ได้รับคัดเลือก จัดแสดงผลงานวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาตรี ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ สิริกิตติ์
2544 รางวัล Grand prize, ประกวดแบบโครงการสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ถนนสาทรเหนือ กรุงเทพฯ
2545 รางวัล Honorable Mention, Central Glass International Design Competition, ประเทศญี่ปุ่น
2546 วิทยากรรับเชิญบรรยายการประกวดแบบของ “ชมรมวันพุทธ” สมาคมสถาปนิกสยามในประบรม ราชูปถัมภ์
2547 ไดัรับคัดเลือกเป็น 1 ใน 20 สถาปนิก ในประเทศไทย เข้าร่วมทำ Workshop“Body architecture” ในงานสถาปนิก 47 เมืองทองธานี กรุงเทพฯ

ประวัติการทำงาน
2541-2542 บ. เจริญกิจ เอ็นเตอร์ไพร์ จำกัด
2543-2544 บ. จันทิมาพร จำกัด
2547-2550 บ.วิริยะ เอ็นเนอร์ยี ดีไซน์ อาร์คิเทคเจอร์ จำกัด
2551-ปัจจุบัน บ.อาร์คิเทคเจอร์ ดีไซน์ อินโนเวชั่น จำกัด


ผม: พี่จบปริญญาตรี จากคณะเราปีอะไรครับ
พี่อานนท์ : ปี 1997 ก็ ปี 40 แหละ ช่วงฟองสบู่กำลังแตกพอดี โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ไม่มี จบมาก็ตกงาน ช่วงนั้นก็ทำพอร์ต เก็บผลงานตัวเอง แล้วก็ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม เกือบปีได้ ประมาณ 8 เดือน หลังจากนั้นก็ได้งานทำที่ เจริญกิจ เอ็นเตอร์ไพร์ ทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ 1 ปี ก็ไปเรียน ต่อปริญญาโท
ผม: ต่อโท เลือกที่เรียนยังไงครับ
พี่อานนท์: เลือกที่อยากเรียน ตอนนั้นอยากเรียนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมมาก ชอบที่เรียนกับอาจารย์จิ๋ว ตั้งใจว่าจะเรียนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมยูโรป กลายเป็นประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยซะนี่ ก็เรียนประวัติศาสตร์แถบๆเอเชียทั้งหมด
เลือกเรียนประวัติศาสตร์เพราะสนใจเรื่องแนวความคิด อยากรู้ว่าคนโบราณเขาคิดกันยังไง ตอนนั้นที่อื่นไม่มี นอกจากศิลปากร ใช้เวลา 5 ปีจบ หลักสูตรที่ลงเรียนตอนนั้น ทำงานไปด้วยไม่ได้ ต้องรอจนจบคอร์สเวิร์ค แล้วก็ได้ทำงานที่บริษัทจันทิมาพร 2 ปี ก็ออกมาเพราะทีสีสจะไม่จบ พอจบแล้วไปทำงานที่บริษัทบุญนาค อาร์คิเทค ได้ เดือนนึง รู้สึกว่าไม่ใช่ เลยออกาทำงานกับ ดร.สุนทร ที่วิริยะ เอ็นเนอร์ยี ดีไซน์ ทำอยู่ 4 ปี ได้แนวคิดใหม่ๆ ที่ต่างจากลาดกระบัง เขาออกแบบโดยเน้นเรื่อง สภาพแวดล้อม รูปลักษณ์ วัสดุ และงานวิศวะกรรม มากว่าฟังก์ชั่น ไม่เหมือนลาดกระบัง ใช้อิมเมจ ภาพอาคารหยาบๆ มุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย ไม่เน้นฟังก์ชั่น ใช้จับยัดเอา เด็กลาดกระบังไม่มีปัญหาอยู่แล้วเรื่องฟังก์ชั่น มาจัดเอาทีหลังได้ วิธีนี้ก็ไม่ใช่จะถูกต้องนัก แต่ต้องมองที่เป้าหมายหลักของเราคืออะไร

ผม: แล้วทำไมถึงได้เริ่มเปิดออฟฟิสเองครับ
พี่อานนท์: เปิดออฟฟิสเองเพราะคิดว่า ถึงเวลา มันถึงจุดอิ่มตัว พี่ออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน แต่ก็ไม่ได้คำนวณเอง ไม่เหมือน ดร.สุนทร แต่พี่ก็ไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น ไม่ได้อยากเป็นสถาปนิกกับวิศวกรในคนเดียวกัน พี่มีทางที่อยากเป็น ไม่ใช่ทางของลาดกระบัง และก็ไม่ใช่ทางของ ดร.สุนทร เลยมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของตัวเอง โดยการเปิดออฟฟิส หาแนวร่วม เลยรวมทีมงานที่มีความสามารถหลากหลายเข้าด้วยกัน รวมความคิดกันจากหลายแง่ โดยชวนรุ่นพี่ รุ่นน้องจากลาดกระบัง มาเปิดออฟฟิสด้วยกัน เปิดออฟิสใหม่ๆ ก็เหมือนตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ แต่ต่างกันที่ ห้ามพลาด เพราะความรับผิดชอบมันหลายด้าน รับผิดชอบต่อลูกค้าโดยตรง รับผิดชอบลูกน้อง ถึงเป็นษัทน้องใหม่ แต่การทำงานก็ต้องเป็นมืออาชีพ ต้องเข้าใจในเรืองของวิชาชีพ ทำงานมาก็10 กว่าปีแล้ว รู้เรื่องในวงการพอสมควร ทั้งเรื่องดีเรื่องไม่ได้ ก็เอาประสบการณ์มาใช้ในการทำงาน

ผม: พี่นนท์มีสไตล์การออกแบบที่ชอบเป็นพิเศษไหมครับ
พี่อานนท์: เรื่องรูปแบบมันเป็นจุดเริ่มต้น เป็นเรื่องขององค์ประกอบภายนอก ไม่ได้ติดใจสไตล์ใดเป็นพิเศษ แต่สนใจในเรื่องของแนวความคิดที่มีคุณค่า ความสวยงามของแนวความคิด มี Form ก็ต้องมี Content รายละเอียด บรรยากาศ กว้างกว่าสไตล์ งานสถาปัตยกรรมต้องมีคุณค่าที่ความคิด ออกมาจะสวยหรือไม่สวยอยู่ที่ทักษะขั้นสูง

ผม: ในสายตาของพี่ คณะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
พี่อานนท์: เรื่องของคนมันเปลี่ยนมากกว่า ความคิดความอ่านสมัยนี้กัยสมัยก่อนมันต่างกัน สมัยนี้เทคโนโลยีมันกว้างไกล เด็กเดี๋ยวนี้ก็มีโลกทัศน์กว้างกว่าสมัยก่อน แต่ก็น่าเป็นห่วงเด็กสมัยนี้ เข้าเรียนเพราะสื่อ คิดว่า เรียนคณะนี้แล้ว เท่ บ้า สนุกสนาน เรียนง่าย สื่อเป็นตัวหลักดัน เด็กไม่ได้มีความเข้าใจและตัดสินใจเอง เพราะถ้าเราตั้งใจ และรักก็จะทำได้ดี แต่เด็กสมัยนี้ทำงานแค่ให้เสร็จ ไม่ได้รักกับงานจริงๆ มองเป็นเรื่องเล่นๆ แต่บางคนก็ใช้เทคโนโลยีเป็นประโยชน์ สิ่งที่กังวลตอนนี้ก็เป็นเรื่องของคนมากกว่า สิ่งแวดล้อมในคณะจะเปลี่ยนไป อาคารจะสร้างใหม่ก็สร้าง แต่ของเก่าๆ ก็น่าจะเก็บไว้ไม่ควรรื้อ

ผม: พี่ช่วยฝากอะไรถึงสถาปนิกรุ่นน้องหน่อยครับ
พี่อานนท์: เราทำงานเหมือนชาวสวน งานที่ทำก็เหมือนการปลุกไม้ผล ปลูกปีนี้ปีหน้าอาจจะยังไม่ได้กิน อาจได้กินอีก 5 ปี ข้างหน้า มันเป็นทักษะที่เกิดขึ้นสะสม เมื่อมีทักษะมากแล้วต่อไปการทำงานก็เหมือนการเก็บผลไม้กิน

“ทำอะไรก็ตามให้ตั้งใจเต็มที่ สุดท้ายย่อมได้สิ่งตอบแทน เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า”

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Field trip สถ. ลาดกระบัง ชั้นปีที่ 5 / 2552

การเดินทางสู่ภาคเหนือ เพื่อค้นหาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน ไปศึกษากันว่าความต้องการของคนชนบทนั้นแท้จริงคืออะไร

วันเสาร์ที่ 4 ก.ค.

ตามเวลานัดหมายนั้น บอกว่าล้อจะหมุนตั้งแต่ 7 โมงเช้า และแล้วก็เหมือนทุกครั้ง ไม่มีการพัฒนา ไม่มีความกลัว ไม่มีความเกรงใจ คนที่มีความรับผิดชอบต้องรอคนไร้ความรับผิดชอบเหมือนเช่นเคย ทำไงได้ ก็ไอ้พวกไร้ความรับผิดชอบที่ว่านั่นมันเพื่อนของเรา “เพื่อน” สำคัญเสมอ

ไม่ได้มีการขนของกลับจากบูธแต่อย่างใด ความปลอดภัยฝากไว้กับแม่กุญแจอันเดียว ที่แค่เลื่อยมาเฉี่ยวก็ขาด ขอบคุณน้องๆฝั่งตรงข้ามที่ยังคอยสอดส่องดูแลให้เสมอมา ใครจะไปกล้าขนของกลับล่ะครับ ถ้าวันใดเราออกไป เราอาจจะไม่ได้กลับเข้ามาอีกเลยก็ได้ ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นหลักประกันที่ทำงานของพวกเรา ข่าวลือเรื่องการถูกไล่ออกจากบูทสะเทือนใจปี 5 ทุกๆคน แต่เมื่อรถออกทุกปัญหาที่เกิดขึ้นที่คณะ ก็ถูกปล่อยไว้ที่นั้น พวกเราเบิกบานใจ และเปิดใจที่จะพบกับสิ่งที่รอเราอยู่ข้างหน้า ใช้เวลาเดินทางไม่นานก็ถึงสระบุรี ที่แรกที่เราเข้าไปนั้นเป็นบ้านคน

“บ้านเขาแก้ว” ร่มรื่นเหลือเกิน ลานดิน บ้านไม้ทรงไทย เงียบสงบ ความเป็นอยู่แบบชนบทแท้ๆ ที่หาดูได้ยากนัก ได้ฟังบรรยายจากสองผู้เฒ่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทยชนบท ลานดินที่เป็นพื้นที่ก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มีความเชื้อเชิญและเป็นมิตรอย่างยิ่งในความรู้สึกของผู้ที่มาเยือน คนโบราณเขาอยู่กันเช่นนี้เอง เช่นนี้ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเราเปลี่ยนไป เช่นนี้ที่เราไม่เหมือนเขา และคนรุ่นเรากลายเป็นคนเห็นแก่ตัว

เพียงข้ามถนน ก็เข้าสู่"หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี และ พิพิธภัณฑ์เรือลุ่มน้ำป่าสัก" ที่แห่งนี้มีความอบอุ่นด้วยบรรยากาศของสิ่งแวดล้อม ทั้งบ้านเรื่อง ต้นไม้ แม่น้ำ เหนือกว่านั้นคือน้ำใจที่ได้รับจากชาวไทยวน ที่นี่มีอาหารเลิศรส และการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยวน อะไรเป็นเหตุให้ผมประทับใจที่นี่ อะไรจะเป็นเหตุให้ผมคิดที่จะกลับมาที่นี่อีกครั้ง เพราะผมต่อโท?..

ตัวผมขึ้นรถและเดินทางต่อไปแม้หัวใจจะทิ้งไว้ที่ที่ผ่านมา มุ่งหน้าสู่ที่ต่อไป ที่ต่อไปที่ไหนผมยังไม่รู้จนกว่าจะไปถึง.. ในที่สุดก็ถึง “โบราณสถานวัดพระนอน” สวยงาม ร่มรื่น สงบ และน่าศรัทธา “น้องๆคร้าบ เร็วๆคร้าบ แสงจะหมดแล้วคร้าบ” ทุกคนดูจะอ่อนล้า และท้อแท้กับแบตเตอรี่อ่อน ที่วัดพระนอนแห่งนี้ยังทำให้เรามีแรงฮึดสุดท้าย ถ่ายภาพความงาม และบันทึกสิ่งก่อสร้างของช่างโบราณที่ผ่านการคิดรายละเอียดต่างๆมาอย่างดี ที่ทำให้ผู้เห็นเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สุดท้ายอย่างที่คิด ยังมีราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถ ที่นี่มีคนเวียนเทียนช่างเป็นโอกาสดีจริงๆที่ได้เห็น และได้เก็บภาพสุดท้ายของวัน


วันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.

ฝนตก!! วันรุ่งขึ้นนี้สภาพอากาศไม่ค่อยเป็นใจกับการถ่ายรูปนัก รับประทานข้าวซอยแสนอร่อยในร้านโอมาห์ ร้านนี้อะไรๆก็เป็นแรงดึงดูดให้เข้ามานั่งทานอาหาร อร่อยมาก (น่ารักมาก) เรียบร้อบแล้วมุ่งหน้าเดินทางสู่ที่ต่อไป

“วัดไหล่หิน” ที่นี่โดดเด่นทางการลวงตา หาเคยเห็นสิงห์ที่วัดอื่นแล้ว มาดูวัดนี้จะทำให้รู้สึกว่าวัดนี้มีขนาดใหญ่มาก เป็นเพราะสิงห์เล็กนั่นเอง ลานทรายนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีในวัดแทบทุกแห่ง เป็นพื้นที่กิจกรรม อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าที่วัดแห่งนี้เป็นลานดินเหมือนบ้านเมื่อวาน คงเละเทะน่าดู การขนทรายเข้าวัดที่มีมาแต่โบราณก็เหตุที่วัดเป็นลานทราย ชาวบ้านเมื่อมาที่วัดมีทรายติดเท้ากลับไป ก็ต้องขนกลับมาคืนวัดจน กลายเป็นประเพณี งานก่อสร้างสมัยก่อนนั้นรายละเอียดต่างๆไม่เนี้ยบ ความไม่เนี้ยบนั้นทำให้โบราณสถานอย่างวัดนี้ดูมีความงามแม้จะเก่า เพราะความไม่เนี้ยบนั้น ทำให้คราบความเก่าไม่เป็นจุดด่างพล้อยของงาน กล้องกันน้ำช่วยผมให้สบายใจเรื่องกล้องเสียได้ส่วนหนึ่ง แต่กางเกงยีนขายาวขาดๆที่ลากไปกับพื้นน้ำนั้น ทำให้ลำบากเหลือเกิน

“วัดพระธาตุลำปางหลวง” เดิมทีบริเวณรอบวัดนั้นเชื่อมต่อกับท้องนาโล่งๆ มีเส้นนำสายตาจากท้องนาขึ้นสู่เนินดิน และปิดล้อมพื้นที่ภายในด้วยกำแพง ภายหลังจึงมีการสร้างถนนและกำแพงด้านล้าง ในครั้งนั้นไปถึงกำลังมีการซ่อมแซมเจดีย์ ซุ้มประตู และกำแพงในบางส่วน ที่นี่มีลานกว้างสองฝั่ง ด้านหนึ่งเป็นลานทราย อีกด้าน ปูด้วยก้อนอิฐ หลังคาเตี้ยๆของวิหารนั้นทำให้เมื่อผมเข้ามาถึงก็ต้องนั่งลงทันที เพื่อที่จะเห็นพื้นที่ๆรอบ เมื่อเดินออกไปด้านขวาของวิหาร มีต้นศรีมหาโพธิ์ ที่มีไม้ค้ำศรี ค้ำอยู่เป็นจำนวนมากเป็นประเพณีของที่นี่ เมื่อคิดว่าถ่ายรูปครบแล้วจึงกลับไปที่รถ พบท่านอาจารย์จิ๋วอยู่บนรถ ท่านขอดูรูปแล้วสั่งให้กลับไปถ่ายรูปหอสรงน้ำพระอีกรอบ ให้ความสำคัญกับหอสรงมาก ท่านว่ากำลังจะถูกรื้อ เพราะเก่ามากแล้ว

“วัดปงยางคก” ที่มาของชื่อปงยางคก คือ สมัยที่พระแม่เจ้าจามเทวีจะเดินทางนำฉัตรไปบูชาที่พระธาตุลำปางหลวง ช้างที่ขี่ม้าก็หยุดเดิน และหมอบลง อยู่ ณ ที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน และไม่ยอมไป จึงได้ตั้งวิหาร และสร้างกู่จ๊างนบไว้ (จ๊าง คือช้าง นบ คือการที่ช้างทำความเคารพ) ได้เข้าชมวิหารพระแม่เจ้าจามเทวี แปลกตรงที่ รอบวิหารนี้เป็นลานหินกรวด ไม่ใช่ทราย อาจารย์จิ๋วท่านว่า เอามาเททีหลัง ไปลอกญี่ปุ่นมา แล้วไม่ได้รู้ว่าคนไทยอยู่กันยังไง เมื่อลองถอดรองเท้าเดินจะทำให้รู้สึกเจ็บเท้า ภายในวิหารนั้นมีลวดลายที่วิจิตรและสวยงามมาก หลังคาโดยรอบก็เตี้ยมากเหมือนกัน เพียงเดินเข้าไปก็ต้องก้มหัวแล้ว ทำให้นอบน้อมดียิ่งนัก

ออกจากวัดปงยางคกก็แวะตามบ้านต่างๆที่ผ่าน เป็นบ้านเก่าที่ยังคงรักษาไว้ได้อย่างดี มีความสวยงามมาก และทำให้เห็นวิถีชีวิตผู้ที่อยู่อย่างชัดเจน ได้ช่วยเหลือท่านพ่อเฒ่าแม่เฒ่า เป็นเงินเล็กน้อย ท่านก็ให้พรเป็นการใหญ่ เป็นภาษาถิ่น


วันจันทร์ที่ 6 ก.ค.
เช้าทานอาหารที่ร้านโอมาห์เช่นเคย อร่อยมาก(น่ารักมาก) ฝนตกปรอยๆ ฟ้าหม่นๆวันนี้เดินทางแวะไปตามหมู่บ้าน รับรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน และศึกษาวิธีการสร้างบ้านของพวกเขา พวกเขาพึ่งพาตัวเอง ใช้ช่างพื้นถิ่นและช่วยกันสร้างรูปแบบบ้านเหล่านั้นตอบสนองการใช้งานจริงของพวกเขา ชาวบ้านแถวนี้ประกอบอาชีพหลักคือทำนา ทุ่งนาแถวนี้ไม่เหมือนแถวภสคอีสาน บางส่วนเป็นนาขั้นบันได ทุ่งนาบริเวณเชิงเขาเหล่านี้ สวยงามจริงๆ สีเขียวขจีไปทั้งหมด และมองเห็นเมฆหมอกบนยอดเขา ภาพแบบนี้ที่ชีวิตประจำวันผมไม่มีโอกาสได้เห็นเลย

อาหารกลางวันแวะทานที่วัด “เขาเตรียมข้าวกันหมดน่ะ!! แล้วเราไม่มีอ่ะ!!” พวกผมเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านถามทางชาวบ้าน เด็กๆบอกให้เดินตรงเข้าไปจะมีร้านก๋วยเตี๋ยว เดินไปก็ไม่เจอ จนกระทั้งเจอลุงใจดีนำทางให้ แท้จริงแล้วทางที่เด็กๆนั้นบอกทำให้เราต้องเดินอ้อม ก๋วยเตี๋ยวที่นี่อร่อยและถูกมาก

เมื่อทานอาหารเสร็จกลับไปรวมที่วัด เดินเข้าหมู่บ้าน หมู่บ้านที่นี่ มีคูน้ำที่ไหลเชียวอยู่โดยรอบ เรากลับไปลุยนาต่อ วันนี้จะใช้เวลาส่วนมากลุยอยู่ในทุ่งนา เป็นเพราะมันเดินยาก เข้าไปแล้วออกยาก ออกยากคือเดินก็ยาก แถมยังไม่อยากออก พวกผมลุยคันนาเขาพังไปหลายแห่งเลยทีเดียว แต่ก็ประทับใจวันนี้ที่สุด ทุกคนยิ้มไม่หุบ ยิ้มแย้ม ยิ้มๆๆ

“วัดข่วงกอม” จังหวัดลำปาง ที่นี่มีกุฏิสร้างใหม่ที่ออกแบบโดยสถาปนิก ดูสวยงามดี แต่ลักษณะเหมือนจะเป็นรีสอร์ โบสถ์ที่ออกแบบอย่างสวยงาม แต่ลักษณะของการสร้างกำแพงด้วยการเรียงหินที่แตกต่างจากการเรียงอิฐในสมัยก่อน ทำให้ลายตะปุ่มตะปั่มที่กำแพงหินและบันไดนั้นดูจะขัดๆลูกตาซักนิด เมื่อตั้งใจจะมองไปที่โบสถ์ เดินเข้าไปด้านในมีหมู่บ้านเล็กๆ ออกไปทางด้านหลังมีทางเดินเป็นพื้นดินที่เปียกจนลื่น เมื่อเดินเข้าไปสุดทาง มีสะพานข้ามลำธาร เพื่อข้ามไปยังพื้นที่เกษตรกรรมที่เต็มไปด้วยทากดูดเลือด เมื่อคนข้ามมามากแล้วผทตัดสินใจกลับก่อนที่สะพานจะหัก กลับมาคนแรกได้ซื้อซาลาเปากิน 3ลูก อย่างหิวโหยหันกลับมาอีกที พบว่าโบสถ์ตอนพระอาทิตย์ตกดินนั้นเปิดไปสวยงามมาก แต่ไม่ทันแล้ว แบตหมดคร้าบบบ


วันอังคารที่ 7 ก.ค.

เป็นวันสุดท้ายที่ทานอาหารที่ร้านโอมาห์ ความอร่อยที่น่ารัก จะไม่ได้มาอีกแล้ว~

วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใส สถานที่แรกที่ไปถึงวันนี้คือวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม(พระบรมธาตุดอนเต้า) อ.เมือง จ.ลำปาง อุโบสถวัดสุชาดาราม เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาฝีมือช่างเชียงแสน เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ประดับด้วยลายลงรักปิดทอง ช่องเปิดนั้นเรียงเป็นเส้นนำสายตา มองจากด้านนอกไม่รู้สึกเท่าไหร่ มองจากภายในจึงรู้ว่าช่องเปิดไล่ระดับสูงขึ้นไปนำสายตาไปสู่ พระประทาน มอสที่ขึ้นรอบๆโบสถ์นั้นเป็นความงามที่เข้ากันได้อย่างดี

“วัดปงสนุก”
เคยเป็นที่ฝังเสาหลักเมืองหลังแรก แต่ปัจจุบันได้ถูกย้ายออกไปแล้ววิหารพระเจ้าพันองค์ถือเป็นวิหารที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์มาก ทั้งการตกแต่งแบบพื้นถิ่น โดยใช้ฝีมือของชาวบ้านที่ไม่ประณีตมากนัก สีสันหลากหลาย รวมไปถึงหลังคาที่เชิดขึ้นทำให้ดูมีเสน่ห์ขึ้นอีก รายละเอียดโครงสร้างที่มึความซับซ้อนต่างออกไปจากที่อื่นๆ ที่นี่คนที่ขาดวิชาอาจารย์ไก่ 2 ครั้งต้องตัดโมเดลนะ สะใจ

“วัดศรีรองเมือง(วัดท่าคราวน้อยพะม่า)”
เมื่อมาถึงวัดศรีรองเมืองเป็นเวลารับประทานอาหารกลางวันพอดี โชคดีที่วันนี้เตรียมอาหารมาจึงไม่ต้องเดินตากฝนไปทานข้าวงไกลเหมือนเพื่อนๆ ทั้งที่เตือนแล้วแท้ๆแต่ไม่มีใครสนใจซื้อ การเตรียมอาหารมากลับกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะเหล่าอาจารย์ทานไม่หมด ส่งให้เป็นหน้าที่ผมในการเก็บกวาดอาหารให้เรียบผลของการเก็บกวาดอาหารเหล่านี้ ทำให้ผมอิ่มจนปวดท้องมาก ทรมานตลอดการถ่ายรูปที่วัดนี้ วัดศรีรองเมือง ถูกสร้างโดยช่างชาวพม่า ปัจจุบันมีอายุถึง 100 ปี เสา ฝ้าเพดาน ถูกตกแต่งไว้ด้วยลวดลายวิจิตรงดงาม จนกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ตัววิหารสร้างด้วยไม้สัก หลังคาซ้อนชั้นเห็นได้เด่นชัดเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีลายฉลุประดับหน้าจั่วและเชิงชายคา ดูอ่อนช้อยกว่าที่อื่นๆ รวมทั้งสีทองตัดกับสีน้ำตาลแดง ภายในวิหาร ตกแต่งไว้อย่างวิจิตร เสาประดับประดาด้วยปั้นรักและกระจกหลากสีสะท้อนแสงเพดานมีการตกแต่งด้วยกรอบลาย เป็นเส้นลวดลายต่างๆ รวมทั้งกระจกสีหลากหลาย ที่แตกต่างจากวัดไทยคือ ที่นี่เป็นการรวมวิหาร โบสถ์ และกุฏิสงฆ์เข้าไว้ด้วยกัน เมื่อลงมาจึงได้เก็บภาพสิ่งก่อสร้างที่ดูคล้ายหอสรง แต่ที่นี่กลับเป็นห้องส้วมแบบพม่านั่นเอง

เดินทางออกจากวัดไปยังบ้านเก่าหลังหนึ่ง หน้าบ้านมีป้ายว่า พ.ศ. 2482 บ้านหลังนี้เป้นบ้านไทยพื้นถิ่นที่สร้างด้วยช่างที่มีความปราณีต และสวยงามมาก

ค่ำนี้อาจารย์เลี้ยงอาหารพื้นเมืองแห่งหนึ่ง ขอบคุณมากครับ ถ้าไม่ได้อาจารย์พาไปผมคงไม่มีโอกาสได้กิน อาหารพื้นเมืองอร่อยมาก

คืนนี้นอนที่สนามกีฬา 700 ปี เชียงใหม่ ที่นี่เป็นที่นอนที่ผมประทับใจที่สุด ไม่ต้องหรู ห้องน้ำเยอะ อยู่หลายคน สนุกสนานกันดี ทุกคนต่างก็ทำกิจกรรมร่วมกันตอนกลางคืน ทั้งออกกำลังกาย เล่นดนตรี เล่นของเล่น และที่สำคัญห้องอาบน้ำมีเพียงพอที่จะตื่นสายแล้วอาบทัน แถมยังราคาถูกมากๆ


วันพุธที่ 8 ก.ค.

วันนี้ออกมาทานอาหารไม่ไกลนัก มื้อเช้าที่สิ้นคิดของผมก็คือข้าวมันไก่ สั่งแบบนี้จะได้กินไวๆ ปรากฏว่านานเหมือนต้องรอไก่โตเลยทีเดียว

“พระวิหารหอคำหลวง”เป็นวิหารไม้ที่สวยงาม มีการลดชั้นหลังคา ฝาด้านข้างเป็นฝาไม้ปะกล รอบข้างมีไผ่สานลักษณะคล้ายเจดีย์ มีธงธรรมจักรปักเรียงราย สร้างบรรยากาศดูมีชีวิตชีวาเป็นอย่างยิ่ง ศาลาในวัดนี้มีโครงสร้างที่ทำจากไม้ไผ่ ปูด้วยตองตรึง ช่วยป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี และสวยงามเป็นธรรมชาติ

“โรงแรม ยู” เชียงใหม่ โรงแรมแห่งนี้ได้มีการต่อเติมห้อมล้อมบ้านไม้เก่า โดยมีการเลียนแบบรายละเอียดขอระเบียบโบราณโดยการใช้วัสดุโครงสร้างสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน สร้างบรรยากาศและจุดขายได้เป็นอย่างดี

“วัดทุ่งอ้อ” เป็นวัดที่มีบริเวณกว้างขวาง มีลานกว้างทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่วิหารกลับเป็นวิหารขนาดเล็กมากที่เป็นการผสมผสานโครงสร้างปูนและไม้เข้าด้วยกัน อย่างลงตัวและสวยงาม โดยการออกแบบมีรายละเอียดที่มาจากการใช้งานจริง มีทางเข้าเล็กๆด้านข้างสำหรับเป็นทางพระสงฆ์ขึ้น เพราะวิหารขนาดเล็กมากเมื่อคนเข้ามานั่งแล้วพระจะเข้ามาได้ยาก

“วัดอินทราวาส(ต้นเกว๋น)” อ.หางดง จ.เชียงใหม่ "ต้นเกว๋น" เป็นชื่อของต้นไม้ล้านนาชนิดหนึ่ง ที่มีในบริเวณวัด มีลานทรายกว้างตัดกันสีเขียวของสนามหญ้าอย่างชัดเจน มีกำแพงล้อมรอบบริเวณ มีการวางกลุ่มอาคารที่เชื่อมต่อกัน และล้อมกรอบให้เกิดพื้นที่ ที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างเลื่อนไหล หลังจากสะใจพวกขาดสองครั้งได้ไม่นาน ในที่สุดก็ถึงคราวพวกขาด 1 ครั้ง ที่จะต้องตัดโมเดลโครงสร้างศาลาที่วัดแห่งนี้ เมื่อเข้าไปในวิหาร พบโครงสร้างหลังคาเป็นหลังคาซ้อนชั้น โดยมีการ ลดหลั่นของผนังตามการซ้อนชั้นของหลังคา ด้วยวิธีการใช้เสาคู่ แสงที่ถูกควบคุมให้เกิดการแยกพื้นที่ภายในออกเป็นสามส่วน

“โรงแรมราชมังคลา” โรงแรมที่เจ้าของซึ่งเป็นผู้ออกแบบได้สั่งสมประสบการณ์ที่ศึกษาและเดินทางไปยังที่ต่างๆมาเป็นเวลานาน และได้รวมความเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา ไทย และจีนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยการเลียนแบบวิธีการก่อสร้างของช่างโบราณ ซึ่งไม่เนี๊ยบ ทำให้ได้บรรยากาศของงานก่อสร้างโบราณ

“ไนท์บาซ่า”
ขอบคุณอาหารไทยที่ แพง น้อย และห่วยที่สุดในโลก ที่พบได้ที่นี่เท่านั้น!!เดินเที่ยวหาซื้อของแถวไนท์บาซ่าและถนนโดยรอบนั้นก็สนุกดี แต่ตอนจ่ายเงินไม่สนุกเลย มีแต่ของน่าซื้อทั้งนั้น ต้องอดทนๆ

ค่ำคืนกลับสู่ที่พักแรมสนามกีฬา 700 ปี สนุกเหมือนเคย ชอบจริงๆนะที่เนี่ย


วันพฤหัสที่ 9 ก.ค.

เช้าออกไปทานอาหารที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาหารถูก อร่อย มีให้เลือกหลายอย่าง โรงอาหารกว้างขวาง มีน้ำดื่มฟรี ห้องน้ำเข้าแล้วปิดประตูได้ ทุกอย่าง ต่างจากโรงอาหารเราสิ้นเชิง โรงอาหารเราจะชนะแค่ความอร่อยเท่านั้นแหละ แต่สิ่งดึงดูดสายตาของเขาน่ามองกว่าเยอะ เพื่อนในกลุ่ม นั่งเก้าอี้โรงอาหารในลักษณะ หันมองไปทางเดียวกัน เหมือนอัฒจรรย์ไม่มีผิด คนมีกล้องก็เอาขึ้นมาถ่ายกัน โดนเมล็ดเงาะก็แล้ว ต้องรอจนกระทั้งโดนลูกเงาะถึงวงแตก “ระเบิดลง!!” มาจากผู้ทนดูพฤติกรรมพวกเราไม่ได้
“ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
แหล่งรวมบ้านไทยโบราณที่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี มีองค์ประกอบและรายละเอียดที่สวยงาม รวมถึงพื้นที่โดยรอบที่ร่มรื่ม ผมยังมีโอกาสได้ทดสอบความแข็งแรงโครงสร้างโดยการเหยียบทะลุพื้นลงไปจนได้แผลยาวถึงโคนขา พบว่า พื้นไม่กระดานแผ่นใหญ่ที่ไม่ได้ใช่ตะปูจะแข็งแรงกว่าไม้แผ่นเล็กที่ตะปูผุ

แวะหมู่บ้านหาดผาคัน เก็บภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน และบ้านเรือน จนหมดวัน

นอนโรงแรงที่สุโขทัย











วันศุกร์ที่ 10 ก.ค.

“สนามบินสุโขทัย”
สนามบินสุโขทัยได้ออกแบบโดยดึงเอกลักษณ์ สถาปัตกรรมสมัยสุโขทัยออกมาอย่างชัดเจน พื้นที่โดยรอบสนามบินจัดไว้เสมือนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว กลางวันเรารับประทานอาหารกันที่นี่ ร้านอาหารที่มีน้อยดูเหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับพวกเรา


“ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์ตาสังคโลก สุโขทัย”
ได้ชมการขุค้นพบเตาเผาเครื่องสังคโลกสมันโบราณ และศึกษาถึงลักษณะการออกแบบอาคารที่ครอบคลุมพื้นที่ของการขุดค้นพบโบราณวัตถุเหล่านี้ โดยการใช้โครงสีร้างสมัยใหม่ และการออกแบบพื้นที่ ที่เอื้อต่อการชม และถ่ายภาพ โดยการเว้นพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม


“ศูนย์บริการข้อมูล”
ได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับพื้นที่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย


“วัดทุ่งศรี” “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” “วัดช้างล้อม”
วันเสาร์ที่ 11 ก.ค.

วันนี้แหกขี้ตาตื่นตี 5 และทนหิวเพื่อไปให้ทันถ่ายรูป“วัดพระศรีรัตนมหาธาติเชลียง” และได้ถวายเทียนจำนำพรรษาให้กับที่วัด
แดดวันนี้เป็นใจแก่การถ่ายรูป แต่ไม่เป็นใจแก่การเดินไปถ่ายซักเท่าไหร่ ร้อนเกินไปแล้ว~
วัดที่ไปในวันนี้ได้แก่
“วัดกุฎีราย”
“วัดมหาธาตุ”
“วัดศรีสวาย”
“วัดพระพายหลวง”“วัดศรีชุม” ได้ซื้อปลาตะเพียนเป็นของฝากน้องรหัส เพื่อช่วยเหลือคุณยายเจ้าของร้าน












วันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค.
“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ”
อึกทึกไปด้วยผู้คน เป็นวัดที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมาก มีการทำบุญกันอย่างครึกครื้น จนการบรรยาของอาจารย์เป็นไปด้วยความยากลำบาก แดดก็ร้อนมาก แต่ท้องฟ้าไม่สวย ไม่มีมีเมฆ มีแต่แสงแดดจ้า
“วัดราชบูรณะ”
มีวิหารเก่าแก่ที่สวยงามมาก ภายในยังมีของสะสมโบราณที่มีแสดงให้ดูแก่คนรุ่นหลัง
เดินทางหาร้านอาหารกลางวัน สุดท้ายต้องเข้าไปในห้างสรรพสินค้า กินอาหารที่ศูนย์อาหาร ไม่ผิดหวัง อาหารที่นี่อร่อย ราคาไม่แพง แถมแอร์เย็น สบายกว่าอยู่ข้างนอกเยอะ~
ขากลับซื้อของที่ระลึกเป็นเครื่องเคาะจังหวะดนตรีต่างๆ แล้วก็เล่นดนตรีกันตลอดเวลาเดินทางกลับทำให้รู้สึกว่าเดินทางกลับมาถึงเร็วมาก

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทัศนคติของผมที่มีต่อคณะสถาปัตย์

ทัศนคติของผมที่มีต่อคณะสถาปัตยกรรมก่อนที่จะได้เข้ามาเรียนที่นี่ ผมจะขอบอกตามตรงเลยว่า ผมไม่เคยรู้จักวิชาชีพนี้มาก่อนด้วยซ้ำ ผมเคยดูโฆษณานมผงยี่ห้อหนึ่ง มีเด็กผู้ชายนั่งต่อของเล่นไม้ แล้วพ่อก็คิดว่าว่าลูกชายเมื่อโตไปต้องกลายเป็น “สถาปนิกชื่อดัง” แน่ๆ นั่นคือประโยคแรกที่ผมได้ยินคำว่าสถาปนิก แต่ก็ไม่เคยสนใจว่าพวกสถาปนิกเขาทำอะไรกัน เรียกว่าผมไม่มีทัศนคติต่อสถาปนิกเลยก่อนที่จะได้เข้ามาเรียนคณะนี้ เพราะผมไม่รู้จักสถาปนิก ไม่รู้ว่าคนพวกนี้แหละที่ออกแบบบ้าน บ้านสวยๆที่ผมชอบมอง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมเรียนระดับ ม.ต้นเพลินๆ ม.ปลายชิวๆ มันก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องสอบเอนทรานซ์ เวลาที่ใกล้เข้ามามากแล้ว มีเวลา 1 เทอมให้ผมตัดสินใจเลือกเรียนในคณะที่ผมรู้จัก คณะที่คนทั่วไปนิยมเลือกกัน ผมไม่รู้จักคณะแปลกๆอะไร เพราะผมไม่เคยตั้งใจเรียน ผมจะให้ความสนใจกับสิ่งที่ผมอยากทำเท่านั้น และก็มักจะทำสิ่งเหล่านั้นได้ดี ตามความคิดของผมนะ เวลา 1 เทอมน้อยไปสำหรับการทำความรู้จักคณะต่างๆที่มีให้เรียนมากมาย ผมเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการกางตารางคะแนนผลการสอบเข้าคณะต่างๆในปีก่อนหน้าผม แล้วดูว่าเขามีอะไรให้เรียนมั่ง แล้วจึงเริ่มค้นหาความถนัดของตนเอง อันที่จริงแล้วเป็นการค้นหาจุดอ่อนของตัวเองแล้วกำจัดทิ้งมากกว่า ผมเป็นเด็กสายวิทย์ที่ไม่เก่งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ผมจะสอบอะไรได้บ้าง? มีคณะที่ไม่ต้องการวิชา เคมี และชีวะอยู่ด้วย สถาปัตยกรรม ผมจะเตรียมตัวเก็บคะแนน แค่เพียง วิชา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฟิสิกส์ และความถนัดทางสถาปัตยกรรม ส่วนวิชาที่ต้องผ่านเกณฑ์ คือ สังคม และภาษาไทย 2 วิชาต้องรวมกันได้ 60 คะแนน วิชาหลังนี่ผมมั่นใจมากเพราะผมเก่งภาษาไทยแค่วิชาเดียว มันอาจช่วยให้ผมผ่านได้โดยไม่ต้องสอบสังคมด้วยซ้ำ เวลาที่เหลือน้อยผมรีบหาหนังสือความถนัดทางสถาปัตยกรรมมาอ่านเพื่อเตรียมตัวสอบ “สอบสนุกขนาดนี้เลยหรอเนี่ย!” ผมตัดสินใจทันที่ว่าต้องเข้าคณะนี้แน่นอน อันที่จริงเป็นเพราะผมชอบเรื่องงานช่างเกี่ยวกับบ้านอยู่ก่อนแล้ว
คะแนนของผมออกมาเป็นพี่พอใจระดับหนึ่ง ติด 1 ใน 18 คนแรกพอดี ผมลงโควต้าที่ศิลปากร เป็นโควต้าส่วนภูมิภาค และผมก็ไม่ติด เพราะคณิตศาสตร์ 22 คะแนน ไม่ผ่านเกณฑ์ 30 ที่เขาตั้งไว้ การสอบรอบสองผมเก็บวิชาคณิตศาสตร์วิชาเดียวแล้วในที่สุดก็ผ่าน ผมชอบสถาปัตยกรรมไทย แต่การสอบตรงของศิลปากรผ่านไปโดยผมไม่ทราบเรื่อง และการสอบตรงของจุฬาฯ ผมก็ไม่มีสิทธิ์สอบเพราะเกรดไม่ถึงสมัครสอบไม่ได้ ผมจึงใช้คะแนนสอบเลือกคณะสถาปัตยกรรมไทยจุฬาเป็นอันดับแรก อันดับสองคือลาดกระบัง ผมไม่เลือกศิลปากร เพราะรอบที่แล้วเขาไม่เอาผม รอบนี้ผมก็ไม่เอาเขาเหมือนกัน ผลสอบออกมาผมได้เรียนที่ลาดกระบัง ผมดีใจและโล่งใจมาก อันที่จริงผมพึ่งค้นพบตัวเองในช่วงที่รอผลสอบว่าไม่อยากเรียนที่จุฬาแล้ว
การได้เข้ามาเรียนที่นี่ผมมีความสุข และสนุกกับงานทุกชิ้นที่ทำ ผมรู้สึกว่าถนัดกับงานเหล่านี้ เลือกไม่ผิดเลยจริงๆที่เรียนคณะนี้ การเรียนนั้นใช้ความอดทน ความขยัน ฝีมือ ความคิด ทุกสิ่งพัฒนาตัวผมขึ้น ผมไม่รู้สึกโง่เหมือนเมื่อก่อน เพราะวิชาที่เรียนเป็นเรื่องที่ผมสนใจ และตั้งใจกับมันมากขึ้น อาจเป็นเพราะผมเป็นผู้ใหญ่ขึ้น แต่ผมรู้สึกตัวเองยังเด็กนะ ที่นี่ยิ่งเรียนยิ่งสนุกยิ่งเรียนยิ่งมีความรู้ มีความมั่นใจ ยิ่งเวลาออกไปฝึกงานทำให้ผมรู้เลยว่า ลาดกระบังนี้มีความโดดเด่น สอนสิ่งที่เป็นประโยชน์ และ มีความสำคัญต่อการนำไปใช้ทำงานจริง
เมื่อผมได้เรียนวิชานี้ ยิ่งทำให้ผมเห็นความหลายหลากทางอาชีพ “วิเศษจริงๆจบคณะนี้ไม่มีทางตัน”
ผมรู้สึกว่าอาชีพนี้มีเกียรติ และต้องการความรับผิดชอบสูงมาก ดังนั้นเมื่อผมจบไปผมอาจจะเปิดออฟฟิสเล็กๆ เพื่อรับทำโมเดลเท่านั้นเอง เพราะตั้งแต่ผมเรียนมา งานนี้ผมทำแล้วมีความสุขที่สุด สนุกแถมได้เงิน เป็นอิสระด้านเวลา ทำงานเมื่อไหร่ก็ได้แค่ทำให้ทัน ไม่มีเจ้านายมีแต่ลูกค้า แต่ไม่แน่หรอกชีวิตผมยังอีกยาว ขนาดผมไม่เคยรุ้จักสถาปัตย์ผมยังหลุดมาได้ขนาดนี้~